วัดกองแก้ว http://watkongkaew.siam2web.com/

 

 

วัดกองแก้ว

 

     
   

 

  ประวัติวัดกองแก้ว

 
 
 
วัดกองแก้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลบางยอ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่วัดอยู่เดิม 8 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา ได้มีการซื้อเพิ่มขยายที่วัดอีกรวมประมาณ 2 ไร่เศษ พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศใต้ติดกับที่เอกชนทิศเหนือ(หน้าวัด)ติดคลองบางกะเจ้า ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะดังนี้ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญอาคารไม้สักทรงไทย เป็นอาคารเรือนแฝด หอสวดมนต์ หอฉัน เป็นอาคารทรงไทยใต้ถุนสูง วางผังถูกต้องตามหลักภูมิสถาปัตยกรรม และเอื้อประโยชน์ใช้สอยเป็นอย่างดีคอสองของหอสวดมนต์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังมีศาลาบำเพ็ญกุศล หมู่กุฏิสงฆ์อยู่ด้านทิศตะวันตกของวัด วัดกองแก้วเป็นวัดกำลังพัฒนา ปัจจุบันได้ซื้อที่ข้างเคียงวัดเพื่อขยายพื้นที่ในการก่อสร้างอาคารเสนาสนะ ศาลาบำเพ็ญกุศล เมรุ และโรงเรียนด้านการศึกษา วัดได้เปิดการศึกษาพระปริยัติธรรมให้แก่พระภิกษุสงฆ์ และให้การสนับสนุนการศึกษาของชาติโดยให้ทางราชการสร้างโรงเรียนประชาบาลสอนระดับประถมศึกษาขึ้นในวัดเมื่อ พ.ศ.2576 ให้การสนับสนุนพื้นที่ก่อสร้างอาคารและอาคารเรียน
 
   

 

 

ลำดับเจ้าอาวาส จากอดีต จนถึง ปัจจุบัน 

1. เจ้าอธิการแก้ว

2. พระครูปลัดเลื่อม

3. พระครูวิบูลย์ธรรมคุต (ต่วน)

4. พระอธิการพูน

5. พระอธิการเสงี่ยม

 6. พระอธิการรังสรรค์  อุทโย เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน 

  

   

 

 

ในอดีต วัดกองแก้วเป็นวัดท้ายเมืองพระประแดง สร้างในสมัยอยุธยา จากหลักฐานทำเนียบวัดที่กรมศาสนา บันทึกไว้ ทราบว่า วัดกองแก้วได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2243 ช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานประกอบกับอาคารเสนาสนะ โบราณสถานภายในวัด อาทิเช่น พระอุโบสถหลังเก่า รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา หลังคาไม่มีการลดหลั่น แต่มีเพิงหน้าหลัง ไม่มีซุ้มประตูหน้าต่าง หรือลวดลายประกอบ แผ่นอิฐดูตามขนาด และเนื้ออิฐน่าจะเป็นอิฐที่มาจากเมืองเก่าอยุธยา ส่วนเจดีย์ทรงเหลี่ยม ย่อมุมสิบสอง (ปัจจุบันไม่เหลือให้เห็นแล้ว) น่าจะสร้างขึ้นในช่วงรัตนโกสินทธ์ ในสมัยรัชกาลที่ 2 จากชาวรามัญที่อพยพเข้ามาอยู่ปทุมธานีและที่เมืองพระประแดง


บริเวณตำบลบางกะเจ้า (ชาวบ้านเรียก บางกระเบื้อง เพราะมีเศษกระเบื้อง แผ่นอิฐกำแพงเมืองเก่าทับถมอยู่ให้เห็นเป็นข้อสันนิษฐานได้) และที่ตั้งวัดคงมีส่วนบริเวณที่ชาวรามัญอพยพเจ้ามาพักอาศัย ผู้เขียนได้รับการบอกเล่ามาจากพระอธิการรังสรรค์อุทโยเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ความว่ามีเสาหงส์ตั้งอยู่ในวัด (เสาหงส์, หงส์ เป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ วัดใดที่ตั้งเสาหงส์อยู่ในบริเวณวัดแสดงว่าเป็นวัดชาวมอญ

วัดกองแก้ว เดิมชาวบ้านเรียกว่า "วัดแก้วฟ้า" ช่วงที่พระครูวิบูลย์ธรรมคุต (อุปัชฌาย์ต่วน) เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ตามได้จัดวางผังวัด สร้างอาคารเสนาสนะ จัดวางแนวกุฏิสงฆ์ล้อมรอบหอสวดมนต์ซึ่งยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบันและเมื่อท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางน้ำผึ้งในท่านก็จัดวางผังเฉกเช่นเดียวกับวัดกองแก้ว คือมีกุฏิสงฆ์ล้อมรอบหอสวดมนต์มีชานเดินรอบ (ปัจจุบันนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว)

ตำบลบางยอเป็นที่ราบลุ่ม ประชาชนมีอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนผลไม้และน้ำตาลมะพร้าว การคมนาคมอาศัยทางแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่ วัดกองแก้วตั้งอยู่ริมคลองบางกะเจ้า ซึ่งเป็นคลองที่ผ่านทะลุ 4 ตำบล อันได้แก่ บางกะเจ้า บางกอบัว และบางน้ำผึ้ง ซึ่งคลองจึงมี 3 ชื่อ ผ่านตำบลบางกะเจ้า เรียกคลองบางกระเจ้า ผ่านตำบลบางน้ำผึ้ง เรียกคลองบางน้ำผึ้ง ผ่านตำบลบางยอช่วงกลาง เรียกว่าคลองน้ำชน ทั้งนี้เพราะทางเดินน้ำจากปากคลองบางกะเจ้า กับปากคลองบางน้ำผึ้ง มาชนกันที่ตำบลบางยอ หน้าวัดกองแก้วอยู่ติดคลองบางกะเจ้าจึงนิยมสร้างศาลาท่าน้ำเป็นที่นั่งพักผ่อน และเป็นท่าสำหรับจอดเรือ ปัจจุบันวัดได้รับการพัฒนา โดยมีพระอธิการรังสรรค์อุทโย เจ้าอาวาสร่วมแรงร่วมใจกับประชาชน จนมีความเจริญรุดหน้าทั้งด้านศาสนา และการศึกษา ทั้งยังให้การอนุเคราะห์ชุมชนได้จัดกิจกรรมทางศาสนาและงานประเพณีตลอดมา


สิ่งที่น่าสนใจและเรียนรู้ พระประธาน ประติมากรรมรูปปั้น ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก นามว่า พระพุทธชินศรีรัตนมหานุนีตรีโลกเชษฐ์ (หลวงพ่อใหญ่) ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารแฝดไม้สักทรงไทย ภายในมีธรรมาสน์สมัยอยุธยา ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพไตรภูมิ ภาพพระเจ้าสิบชาติ และภาพพุทธประวัติ มณฑป ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป รอยพระพุทธบาทและรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส

  

 
 
ได้รับความเมตตาเอื้อเฟื้อข้อมูลจาก พระอธิการรังสรรค์อุทโย เจ้าอาวาส
 
     
     
Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 21,167 Today: 3 PageView/Month: 104

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...